[PC Mod] ติดไฟ RGB มันก็จะวิ๊บ ๆ วับ ๆ หน่อย
พอดีเดือนที่ผ่านมา (2022–10) ประกอบคอมใหม่มาไว้เล่นเกม 1 เครื่อง แต่เคสที่ได้มา มันดันไม่มีพัดลมที่มีไฟ RGB มาด้วย แล้วมันคันไม้คันมือ อยากให้คอมเรามันวิ๊บ ๆ วับ ๆ ได้ นี่จึงเป็นที่มาของ Blog นี้
พอดีว่า ห่างหายจากวงการประกอบคอมไปนานมากแล้ว เครื่องก่อนหน้านี้ที่ประกอบเอง ก็เมื่อ 4 ปีก่อน (ปี 2018) สมัยนั้น เรื่องไฟ RGB นี่น่าจะยังใหม่ ๆ กันอยู่ เลยไม่ได้สนใจมากนัก
แต่พอได้เครื่องใหม่มา ได้เคสเป็น NZXT H7 Flow มา (หึ ราคาไม่ถูก ละยังไม่ให้พัดลม RGB มาเลย) และด้วยยุคสมัยนี้มันต้องมีวิ๊บ ๆ วับ ๆ จึงต้องไปหาทางจัดพัดลม RGB มาประดับเคสหน่อย
พอเริ่มมาศึกษาเรื่องพัดลม RGB โอ้ว เรื่องมันควรจะง่าย แต่ไม่ง่ายเลย มันมีอะไรที่หยุมหยิมเต็มไปหมด
RGB VS. ARGB
RGB (Red Green Blue)
คือระบบแรกเริ่มของวงการตกแต่งคอมด้วยแสงสี โดยตัวมันเองจะเป็นก็มีความสามารถในการเปลี่ยนสีได้ ทำเอฟเฟคได้อยู่ (แต่ซับซ้อนมากไม่ได้ เนื่องจาก ไม่สามารถควบคุมเป็นรายหลอดไฟ LED ได้)
RGB ใช้การเชื่อมต่อแบบ 4 พิน 12v
ARGB (Addressable Red Green Blue)
คือระบบที่พัฒนาต่อมาจาก RGB ปกติ จุดเด่นที่เพิ่มมา หลัก ๆ ก็คือ สามารถ ควบคุม LED ได้สูงถึง 50 หลอด และสั่งการแต่ละหลอดได้อย่างอิสระ
ARGB ใช้การเชื่อมต่อแบบ 3 พิน 5v
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ARGB Gen2 ที่เพิ่มความสามารถเกี่ยวกับการต่อพ่วงอุปกรณ์ได้
ระบบลูกปืน (Bearing)
- Hydraulic bearing
- Fluid dynamic bearing
- Rifle bearing
- Advanced fluid dynamic bearing
เรื่องนี้ไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก แต่เค้าว่ากันว่า (เค้าไหนก็ไม่รู้นะ) Advanced fluid dynamic bearing ทนที่สุด สำหรับเรื่องนี้ ส่วนตัวแล้วคิดว่าใช้ ๆ ไปเถอะ พังก็ซื้อใหม่
Airflow, Static Pressure and Noise Level
Airflow (CFM)
ค่าการไหลของอากาศ พูดง่าย ๆ คือลมแรง อันนี้ยิ่งมาก ยิ่งดี
Static Pressure (mm H2O)
แรงดันคงที่ พูดง่าย ๆ คือลมแน่น อันนี้จะไม่ต้องอะไรมาก ถ้าเอามาติดเคส แต่ถ้าเอาไปติดหม้อน้ำ ค่านี้ ยิ่งเยอะยิ่งดี
Noise Level
ระดับเสียง อันนี้ยิ่งน้อยจะยิ่งดี เพราะไม่ชอบเสียงดัง ๆ
ได้เวลาซื้อของจริงแล้ว
พอดีมีงาน Commart ก็เลยได้เดิน ๆ ดู เจอตัวเลือกที่โดน ๆ อยู่ดังนี้
- Cooler Master MasterFan MF120 Halo
- Asus TUF TF120
- NZXT F120
- Corsair จำรุ่นไม่ได้
พิจารณาจากตัวเลือกกลุ่มนี้ ก็โดนตัว MasterFan MF120 Halo ไป ได้มาในราคา 1,7xx บาท ที่เลือกตัวนี้มา ก็เนื่องจากมันเขียนตรง ๆ ว่ารองรับการสั่งงานจากตัว Mainboard โดยตรง
ส่วนตัวอื่น ๆ คนขายดันบอกว่าต้องใช้กับกล่อง Controller ของตัวมันเองเท่านั้น ไม่งั้น ไฟไม่ออก (หึ) ซึ่งก็น่าแปลกดีในมุมของคนซื้อ
นอกจากเรื่องการ Support การใช้งาน ก็เป็นเรื่องหน้าตา ที่อยากได้แบบที่มีไฟเป็นวงแหวนกับมีไฟ ตรงกลาง อยากจะเอามาทำ Effect แบบตอน Doctor Strange เปิดวาร์ป
MasterFan MF120 Halo
ในแพ็คของ MasterFan MF120 Halo ก็จะมีพัดลมมา 3 ตัว, Controller 1 ตัว, สายไฟ และน็อต
ตอนที่ติดตั้งจริง ก็นึกขอบคุณตัวเองที่เลือก NZXT H7 เนื่องจากเคสตัวนี้ ออกแบบมาให้มีแผงยึดพัดลม ที่แกะออกมาได้ง่ายดี ทำให้การติดตั้ง ทำได้ง่ายมาก
ก็จบกันไปกับโปรเจ็คโรงงิ้ว ที่จะทำให้คอมของเราวิ๊บ ๆ วับ ๆ ได้